หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย

by - พฤศจิกายน 20, 2563

   หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีอายุและความเป็นมามากกว่า 100 ปี ปัจจุบันถูกจัดสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และประวัติความเป็นของชาวไทดำ โดยภายในหมู่บ้านจะมีการจัดแสดงต่างๆ เช่น ชมบ้านจำลองที่สร้างตามแบบบ้านโบราณในอดีตพร้อมเครื่องใช้ในชีวิตประจำ ดูการสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำที่เป็นการทอมือแบบโบราณที่สืบทอดกันมา ชมการละเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเซปาง เซแคน อื่นๆ นอกจากกิจกรรมต่างๆที่มารองรับนักท่องเที่ยวแล้ว ภายในหมู่บ้านยังมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์พร้อมอาหาร 2 มื้อในราคาไม่แพง ส่วนบริเวณรอบหมู่บ้านจะเป็นทุ่งนาที่ถูกรอบลายรอบไปด้วยธรรมชาติความเขียวขจีของต้นไม้และภูเขา จึงทำให้มีบรรยากาศที่เย็นสบาย เงียบสงบ เหมือนอยู่ตามชนบท

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย
ภาพจาก : FB นรินธร ตี๋

   หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ ตั้งอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว เป็นที่อาศัยของชาวไทดำ ที่อดีตอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ โดยเป็นหมุ่บ้านเล็กๆ มีประชากรประมาณ 900 คน 300 ครอบครัว มีสภาพบ้านเรือนเป็นแบบแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานกับสมัยใหม่ (คือยังคงรูปแบบโครงสร้างเหมือนเดิมแต่ใช้วัสดุสมัยใหม่) ส่วนบริเวณรอบๆหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่ทำนา เนื่องจากอาชีพหลักของชาวไทดำ คือ การทำนา ทำไร่ โดยยึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่วนอาชีพรองลงมา คือ จักสาน เลี้ยงไหม ทอผ้า รวมถึงอาชีพเสริมอีกอย่างคือ โฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากมาสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย
ภาพจาก : FB Chit Thanavin Wangvieng

- บ้านจำลองที่สร้างตามแบบบ้านโบราณในอดีต โดยบ้านของชาวไทดำแบบดังเดิมนั้นเรียกว่า เรือนไทดำ หรือ เฮือนไทดำ มีลักษณะเป็น หลังคาทรงกระดองเต่ามุงด้วยหญ้าคาหรือหญ้าแฝก ตัวเรือนยกใต้ถุนสูง พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกทุบแผ่ออก ฝาเรือนทำด้วยไม้ไผ่ไม่มีช่องหน้าต่าง ภายในตัวบ้านจะเป็นพื้นที่โล่งไม่มีผนังกั้น แต่จะแบ่งออกเป็นส่วนๆสำหรับที่นอน ที่ทำอาหาร และส่วนที่บูชาผีเรือน โดยมีบันไดทางขึ้น 2 ทาง คือ บันไดหน้าเรือนสำหรับผู้ชาย กับ บันไดหลังเรือนสำหรับผู้หญิง
- การเรียนรู้ตัวอักษร และภาษาไทดำ จะอยู่บริเวณศูนย์วัฒนธรรม เป็นการสอนให้ได้เรียนรู้ พยัญชนะทั้งหมด 38 ตัว การออกเสียง และการผสมคำ รวมทั้งยังสอนวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษที่ได้ส่งต่อมาเพื่อไม่ให้สูญหาย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้พร้อมกับเด็กๆที่หมู่บ้านได้

ภาพจาก : FB Chit Thongjul Naudom

- การสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำ หรือที่ชาวไทดำเรียก ซิ่นนางหาญ จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านที่ศูนย์วัฒนธรรม โดยจะมีกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำจะมานั่งรวมตัวกัน หลังจากการทำนา เพาะปลูก เพื่อมาทอผ้าด้วยมือแบบโบราณที่สื่บทอดมากกว่า 100 ปี โดยมีลวดลายสวยงามเป็นเอกเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามานั่งชม หรือ เลือกซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก หรือของฝากก็ได้
   หมาเหตุ : ซิ่นนางหาญ โดยคำว่า นางหาญ มีความหมายว่า ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ที่ยกย่องหญิงที่เป็นตำนานของชาวไทดำ โดยตำนานเล่นต่อกันมาว่า มีหญิงชาวไทดำ 3 คน ที่ตั้งใจจะทอพ้า โดยหญิงคนแรกเป็นคนคิดค้นการมัดลายและทอ แต่ยังทอไม่เสร็จก็เสียขีวิต หญิงคนที่สองก็มาทำการทอต่อ แต่ยังทอไม่เสร็จก็เสียขีวิตเช่นกัน จนมาถึงหญิงคนที่สาม ซึ้่งก่อนทอหญิงคนที่สามได้บอกกล่าวผีเรือน ว่าหากทอได้สำเร็จจะทำการเสนเรือน (การเสนเรือน คือ การทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรีอนของชนเผ่าไทดำ) เมื่อหญิงคนที่สามทอสำเร็จ ชาวไทดำจึงนิยมนำซิ่นนางหาญมาใช้ในการประกอบพิธีเสนเรือน

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย
ภาพจาก : FB  วาสนา อาจสาลิกรณ์

- ชมวิถีชีวิตของชาวไทดำ เป็นการเรียนรู้ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำ เช่น ชิมอาหารพื้นเมืองของไทดำ ใส่ชุดเสื้อผ้าชาวไทดำ ชมการทอผ้า ชมการตีมีด ดูลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวไทดำ รวมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา เช่น ประเพณีประเพณีตุ้มโฮมพี่น้องไทดำ ที่ถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญมาก โดยประเพณีนี่จะมีละเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเซปาง เซแคน , ชมการละเล่น มะกอนลอดบ่วง เป็นประเพณีเสี่ยงทายให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่ในหมู่บ้าน เป็นต้น
- เดินช็อบปิ้ง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเลือกซื้อ สินค้าพื้นเมือง จำพวกเครื่องประดับตกแต่ง เสื้อผ้า ของที่ระลึก กระเป๋า ผ้าพันคอ หรือจะเป็นขนมและอาหารพื้นเมือง เช่น ถั่วดาวอินคา แจ่วดำ น้ำผักสะทอน อื่นๆ 

ภาพจาก : FB Chit Thanavin Wangvieng

   แนะนำ
- ชาวไทดำมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ที่ไม่เหมือนกับผู้คนที่อยู่รอบๆและยังคงรักษาไว้อย่างดี เช่น ภาษา การแต่งกาย ประเพณี วัฒนธรรม อาหาร อื่นๆ
- ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำมีบริการ ชุดไทดำให้นักท่องเที่ยวสวมใส่ได้ฟรี
- หลังจากว่างจากการ ทำนา เพาะปลูก กลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำจะมานั่งรวมตัวกันทำผ้าทอมือแบบโบราณ 
- ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 และเดือน 6 ของทุกปี จะมีการละเล่นแซปาง ที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยการละเล่นนี้จะนำกระบอกไม้ไผ่กระแทกพื้นเป็นจังหวะ และนำของใช้ในชิวิตประจำวัน เช่น โอ่งน้ำ ถาด มาเคาะเป็นดนตรีประกอบ โดยมีหมอมดเป็นผู้ทำพิธีขับร้องเชิญผีสางเทวดามารับเครื่องเซ่นที่ต้นปาง ส่วนผู้เข้าร่วมพิธีแต่งกายชุดประจำเผ่าไทดำ
- อาหารของชาวไทดำ จะไม่นิยมทานเนื้อสัตว์ อาหารส่วนมากจะเต็มไปด้วยผักชนิดต่างๆ พร้อมกับน้ำพริก โดยอาหารยอดนิยม คือ แจ่วอด
- ประมาณปี พ.ศ.2555 ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำบ้านนาป่าหนาด เพื่อเป็นแหล่งสืบสาน อนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำ จึงทำให้เริ่มเป็นที่ของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
- ชาวไทดำ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน จากการอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่หลายที่ จนครั้งสุดท้ายอพยพกลับมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านนาป่า หนาด เมื่อปี พ.ศ. 2460 จนถึงปัจจุบัน (อ่านประวัติความเป็นมาแบบละเอียด การอพยพชาวชาวไทดำ)

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย
ภาพจาก : FB Tanaporn Songsuk

   เปิดเข้าชม : ทุกวัน 9.00 น. - 21.00 น.
   ค่าเช้าชม : ฟรี
   สิ่งอำนวยความสะดวก : มีมากพอสมควร เช่น ที่จอดรถ ร้านขายของที่ระลึก ห้องน้ำ ที่พัก อื่นๆ
   กิจกรรมท่องเที่ยว : ร่วมสนุกกับการละเล่นท้องถิ่น ชมเรือนแบบดั่งเดิมของไทดำ ชมวิถีชีวิตของชาวไทดำ ชมการทอผ้าด้วยมือแบบโบราณ เรียนรู้ภาษาไทดำ อื่นๆ
   ฤดูท่องเที่ยว : เที่ยวได้ตลอดทั้งปี
   ที่เที่ยวใกล้เคียง : จุดชมวิวภูทอก 16 กม. วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน 18 กม. แก่งคุดคู้ 21 กม. วัดท่าแขก 22 กม. ถนนคนเดินเชียงคาน 23 กม. วัดศรีคุนเมือง 23.5 กม. สกายวอล์คเชียงคาน หรือ สกายวอล์คภูคกงิ้ว 30.5 กม. 46 กม. จุดชมวิวภูหอ 47.5 กม. ภูบ่อบิด 56 กม. (ระยะทางโดยประมาณ)

ภาพจาก : FB วาสนา อาจสาลิกรณ์

   ที่อยู่ : ตำบล เขาแก้ว อำเภอ เชียงคาน ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย 42110
   การเดินทาง
   รถส่วนตัว
- เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านตัวเมืองสระบุรี จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ ถึงตัวเมืองเลย แล้วขับตรงไปตามถนนเส้นทาง เลย-เชียงคาน ถึงสามแยกบ้านธาตุเลี้ยวขวามาประมาณ 500 เมตร จะพบทางแยกไปหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ
- เส้นทางที่ 2  จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านตัวเมืองสระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดขอนแก่น รวมระยะทาง 536 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 201 เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอ ภูกระดึง อำเภอวังสะพุง ถึงตัวเมืองเลย แล้วขับตรงไปตามถนนเส้นทาง เลย-เชียงคาน ถึงสามแยกบ้านธาตุเลี้ยวขวามาประมาณ 500 เมตร จะพบทางแยกไปหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ
   รถโดยสารประจำทาง
- ขึ้นที่หมอชิต 2 บขส. กรุงเทพฯ - เมืองเลย - เชียงคาน ราคาแบบ ป.2  347 บาท/คน - แบบ vip 964 บาท/คน โทรสอบถาม 02-936-2841, 02-936-2852  (ส่งถึงเชียงคาน)
- ขึ้นที่หมอชิต 2 แอร์เมืองเลย สาย 29 กรุงเทพฯ - เมืองเลย - เชียงคาน ราคา 446 บาท/คน โทรสอบถาม 0-2936-0142 หรือ บริษัท ขนส่ง จำกัด (ส่งถึงเชียงคาน)
   รถไฟ 
- ขึ้นที่รถไฟหัวลำโพง ขบวน77 กรุงเทพ-หนองคาย ราคา 509 บาท ไปลงสถานีอุดร แลัวเหมารถสามล้อ ราคาประมาณ 80 บาท ไปขนส่งอุดร2 แล้วต่อรถสาย อุดร - เมืองเลย ราคา91 บาท ลงที่ขนส่งเมืองเลย แล้วต่อรถสอง ราคา 35 บาท ไปเชียงคาน โทร.1690 หรือ จองตัวรถไฟ 
   เครื่องบิน 
-  จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) โทรสอบถาม (66) 2 535 1192 , (66) 2 535 2110 หรือ สนามบินสุวรรณภูมิ โทรสอบถาม 0 2132 9031 เมื่อถึงสถามบินเลย มีบริการรถคตู้ไปเชียงคาน 250/คน หรือเหมาลีมูซีนไปเชียงคาน 600 - 800 บาท หรือเหมาแท็กซี่ ประมาณ 500 บาท (ต่อรองได้)
  หมายเหตุ : สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมา สามารถเหมารถได้ตัวเมืองเลย หรือ เหมาที่อำเภอเชียงคาน


หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ จ.เลย
ภาพจาก : FB Thongjul Naudom

   ที่พักในหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ
- โฮมสเตย์บ้านไทดำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมีทั้งหมด 4 แห่ง รองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 160-180 คน แต่ถ้ามีนักท่องเที่ยวมีเป็นจำนวนมาก ทุกหลังคาเรือนสามารถที่เปิดให้เข้าพักแบบโฮมสเตย์ได้เช่นเดียวกัน ราคา 300 บาท/คน พ้อมอาหาร 2มื้อ (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง)
   ที่พักใกล้หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ
- เชียงคาน แกลอรี่ รีสอร์ท ห่าง 21 นาที ราคา 1,023 บาท/คืน
- บ้านสวนละมุน ห่าง 21 นาที ราคา 1,000 บาท/คืน
- โรงแรมบ้านเฮา ห่าง 21 นาที ราคา 459 บาท/คืน
- The Pud dee ห่าง 23 นาที ราคา 1,350 บาท/คืน
- มะลิแกลเลอรี ห่าง 23 นาที ราคา 913 บาท/คืน
- จันทราวาริน พาโนวิว (ริมแม่น้ำโขง) ห่าง 24 นาที ราคา 1,887 บาท/คืน
   หมายเหตุ : ระยะทางห่าง 1 นาที หมายถึงเดินทางโดยรถ

   ข้อมูลจาก : thaidamvillage , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)



You May Also Like

0 Comments